วันที่ 22 มกราคม 2563 สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาบุรีรัมย์ เขต 4 และโรงเรียนอนุบาลพุทไธสงฯ ร่วมงานประเพณีอีสานสืบสานวัฒนธรรมไทย (ฮีต 12 คอง 14) ประจำปี 2563 ณ สนามกีฬากลางเทศบาลตำบลพุทไธสง (บึงสระบัว) โดยมีนายธัชกร หัตถาธยากูล ผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ เป็นประธานเปิดงาน
โดย “ฮีตสิบสอง” หมายถึง จารีตประเพณีประจำสิบสองเดือน ซึ่งถือเป็นโอกาสดีที่ชาวบ้านจะได้มาร่วมชุมนุมและทำบุญในทุก ๆ เดือนของรอบปีและถือเป็นจรรยาของสังคม ผู้ที่ฝ่าฝืนก็จะเป็นผู้ที่ผิดฮีตหรือผิดจารีตนั่นเอง (หลายครั้งฮีตสิบสองมักจะกล่าวควบคู่ “คลองสิบสี่” (คองสิบสี่) ที่เป็นดังแบบแผนหรือแนวทางดำเนินชีวิต (คลอง = ครรลอง) แต่จะมุ่งเน้นไปทางศีลธรรมมากกว่าด้านอาชีพ)
สำหรับประเพณีหลัก ๆ 12 เดือนตามฮีตสิบสองของชาวอีสานโบราณนั้นประกอบด้วย
เดือนเจียง (เดือน อ้าย) มีการประกอบพิธีบุญเข้ากรรม ซึ่งเป็นเดือนที่พระสงฆ์เข้ากรรม (ปริวาสกรรม) เพื่อให้พระสงฆ์ผู้กระทำผิด ได้สารภาพต่อหน้าคณะสงฆ์ เป็นการฝึกจิตสำนึกถึงความบกพร่องของตน และมุ่งประพฤติตนให้ถูกต้องตามพระธรรมวินัยต่อไป ชาวบ้านก็จะมีการทำบุญเลี้ยงผีต่าง ๆ
เดือนยี่ ใน ฤดูหลังการเก็บเกี่ยว ชาวบ้านจะทำบุญคูณข้าวหรือบุญคูณลาน โดยนิมนต์พระสวดมนต์เย็น เพื่อเป็นมงคลแก่ข้าวเปลือก รุ่งเช้าเมื่อพระฉันเช้าแล้วจะมีการทำพิธีสู่ขวัญข้าว นอกจากนี้ชาวบ้านจะเตรียมเก็บสะสมฟืนไว้หุงต้มที่บ้าน
เดือนสาม ใน มื้อเพ็งหรือวันเพ็ญเดือนสาม จะมีการทำบุญข้าวจี่และบุญมาฆบูชา การทำบุญข้าวจี่จะเริ่มตอนเช้าโดยใช้ข้าวเหนียวปั้นใส่น้ำอ้อยนำไปจี่บนไฟ อ่อนแล้วชุบด้วยไข่เมื่อสุกแล้วนำไปถวายพระ
เดือนสี่ ทำบุญ พระเวสฟังเทศน์มหาชาติ ในงานบุญนี้มักจะมีผู้นำของมาถวายพระ ซึ่งเรียกว่า “กัณฑ์หลอน” หรือถ้าจะถวายเจาะจงเฉพาะพระนักเทศน์ที่ตนนิมนต์มาก็จะเรียกว่า “กัณฑ์จอบ” เพราะต้องแอบซุ่มดูให้แน่เสียก่อนว่าใช่พระรูปที่จะถวายเฉพาะเจาะจงหรือไม่
เดือนห้า ประเพณีตรุษสงกรานต์หรือบุญสรงน้ำหรือบุญเดือนห้า ซึ่งมีขึ้นในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือนห้าและถือเป็นเดือนสำคัญ เพราะเป็นเดือนเริ่มต้นปีใหม่ไทย การสรงน้ำจะมีทั้งการรดน้ำพระพุทธรูป พระสงฆ์ และผู้หลักผู้ใหญ่ ด้วยน้ำอบน้ำหอมเพื่อขอขมาและขอพรตลอดจนมีการทำบุญถวายทาน
เดือนหก ประเพณีบุญบั้งไฟและบุญวันวิสาขบูชา การทำบุญบั้งไฟเป็นการขอฝนพร้อมกับงานบวชนาค ซึ่งการทำบุญเดือนหกถือเป็นงานสำคัญก่อนการทำนา หมู่บ้านใกล้เคียงจะนำเอาบั้งไฟมาจุดประชันขันแข่งกัน หมู่บ้านที่รับเป็นเจ้าภาพจะจัดอาหาร เหล้ายามาเลี้ยง เมื่อถึงเวลาก็จะตั้งขบวนแห่บั้งไฟและรำเซิ้งออกไป ณ ลานที่จุดบั้งไฟ ด้วยความสนุกสนาน คำเซิ้งและการแสดงประกอบจะออกไปในเรื่องเพศแต่จะไม่คิดเป็นเรื่องหยาบคาย แต่อย่างใด ซึ่งประเพณีบุญบั้งไฟจะจัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ทุกปีที่จังหวัดยโสธร ส่วนการทำบุญวิสาขบูชานั้นจะมีการทำบุญเลี้ยงพระ ฟังเทศน์ ช่วงเย็นมีการเวียนเทียนเช่นเดียวกับภาคอื่น ๆ
เดือนเจ็ด ทำบุญซำฮะ (ล้าง) หรือบุญบูชาบรรพบุรุษ มีการเซ่นสรวงหลักเมือง หลักบ้าน ปู่ตา ผีตาแฮก ผีเมือง เป็นการทำบุญเพื่อระลึกถึงผู้มีพระคุณ
เดือนแปด ทำบุญ เข้าพรรษาซึ่งเป็นประเพณีทางพุทธศาสนาโดยตรง ลักษณะการจัดงานจึงคล้ายกับทางภาคอื่น ๆ ของประเทศไทย เช่น มีการทำบุญตักบาตร ถวายภัตตาหารแด่พระภิกษุสงฆ์สามเณร มีการฟังธรรมเทศนา ตอนบ่ายชาวบ้านหล่อเทียนใหญ่ถวายเป็นพุทธบูชาและเก็บไว้ตลอดพรรษา การนำไปถวายวัดจะมีขบวนแห่ฟ้อนรำเพื่อให้เกิดความคึกคักสนุกสนาน ประเพณีแห่เทียนพรรษาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดต้องเป็นที่จังหวัดอุบลราชธานี
เดือนเก้า ประเพณีทำบุญข้าวประดับดิน เป็นการทำบุญเพื่ออุทิศแก่ญาติผู้ล่วงลับ เพื่อบูชาผีบรรพบุรุษและผีไร้ญาติ โดยชาวบ้านจะทำการจัดอาหาร ประกอบด้วยข้าว ของหวาน หมากพลู บุหรี่ห่อด้วยใบตองกล้วยร้อยเป็นพวง เตรียมไว้ถวายพระช่วงเลี้ยงเพล บางพื้นที่อาจจะนำห่อข้าวน้อย เหล้า บุหรี่ แล้วนำไปวางหรือแขวนไว้ตามต้นไม้และกล่าวเชิญวิญญาณของบรรพบุรุษและญาติ มิตรที่ล่วงลับไปมารับส่วนกุศลในครั้งนี้ ต่อมาใช้วิธีการกรวดน้ำหลังการถวายภัตตาหารพระสงฆ์แทน การทำบุญข้าวประดับดินนิยมทำกันในวันแรม 14 ค่ำ เดือนเก้า หรือที่เรียกว่า บุญเดือนเก้า
เดือนสิบ ประเพณีทำบุญข้าวสากหรือข้าวสลาก (สลากภัตร) ตรงกับวันเพ็ญเดือนสิบผู้ถวายจะเขียนชื่อของตนลงในภาชนะที่ใส่ของทานและ เขียนชื่อลงในบาตร ภิกษุสามเณรรูปใดจับได้สลากของใครผู้นั้นจะเข้าไปถวายของเมื่อพระฉันเสร็จ แล้วจะมีการฟังเทศน์เพื่อเป็นการอุทิศให้แก่ผู้ตาย
เดือนสิบเอ็ด ประเพณีทำบุญออกพรรษา ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือนสิบเอ็ด พระสงฆ์จะแสดงอาบัติ ทำการปวารณา คือ การเปิดโอกาสให้ว่ากล่าวตักเตือนกันได้ ต่อมาเจ้าอาวาสหรือพระผู้ใหญ่จะให้โอวาทเตือนพระสงฆ์ให้ปฏิบัติตนอย่างผู้ ทรงศีล พอตกกลางคืนจะมีการจุดประทีป โคมไฟนำไปแขวนไว้ตามต้นไม้ในวัดหรือตามริมรั้ววัด จึงเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า บุญจุดประทีป ในจังหวัดนครพนมจะมีประเพณีการไหลเรือไฟซึ่งตกแต่งด้วยตะเกียงน้ำมันก๊าด เป็นรูปต่าง ๆ สวยงามกลางลำน้ำโขงและมีหลายจังหวัดที่จัดงานแห่ปราสาทผึ้งขึ้น แต่ที่นับว่าเป็นต้นตำรับและมีความยิ่งใหญ่กว่าที่ใดก็คือจังหวัดสกลนคร
เดือนสิบสอง เป็นเดือนส่งท้ายปีเก่าซึ่งจะมีการทำบุญกองกฐินโดยเริ่มตั้งแต่วันแรมหนึ่ง ค่ำ เดือนสิบเอ็ดถึงกลางเดือนสิบสอง แต่ชาวอีสานในสมัยก่อนนิยมเริ่มทำบุญทอดกฐินกันตั้งแต่ข้างขึ้นเดือนสิบสอง จึงมักจะเรียกบุญกฐินว่า บุญเดือนสิบสอง สำหรับประชาชนที่อาศัยอยู่ตามริมฝั่งแม่น้ำใหญ่ เช่น แม่น้ำโขง แม่น้ำชี และแม่น้ำมูล จะมีการจัดส่วงเฮือ (แข่งเรือ) เพื่อระลึกถึงอุสุพญานาค บางแห่งจะมีการทำบุญดอกฝ้ายเพื่อใช้ทอเป็นผ้าห่มกันหนาวถวายพระเณร มีการจุดพลุตะไล และบางแห่งจะมีการทำบุญโกนจุกลูกสาวซึ่งนิยมทำกันมากในสมัยก่อน
ประเพณีทั้งสิบสองเดือนชาวอีสานโบราณถือว่าเป็นหน้าที่ของทุกคนที่จะต้อง ร่วมมือกันอย่างจริงจัง ตั้งแต่เดือนอ้ายจนถึงเดือนสิบสองใครที่ไม่ไปช่วยงานบุญก็จะถูกสังคมตั้ง ข้อรังเกียจและไม่คบค้าสมาคมด้วยการร่วมประชุมทำบุญเป็นประจำทำให้ชาวอีสาน มีความสนิทสนมรักใคร่และสามัคคีกัน ทั้งภายในหมู่บ้านของตนและในหมู่บ้านใกล้เคียง